วันพฤหัสบดีที่ 6 ธันวาคม พ.ศ. 2555


หน่วยที่ 2
พันธุ์ และการคัดเลือกผสมพันธุ์สัตว์ปีก

ประเภทของสัตว์ปีก
                สัตว์ปีกในความหมายของสัตว์ปีกเศรษฐกิจหมายถึงสัตว์ที่มีร่างกายปกคลุมด้วยขนออกลูกเป็นไข่ โดยใช้เป็นอาหารของมนุษย์ได้ แบ่งเป็นชนิดของสัตว์ปีกได้ คือ ไก่ เป็ด ห่าน และนกกระทา ซึ่งสัตว์ปีกแต่ละชนิดจำแนกเป็นประเภทได้ดังนี้
1. แบ่งตามถิ่นกำเนิด แบ่งออกเป็น
1.1 ไก่ที่มีถิ่นกำเนิดในประเทศสหรัฐอเมริกา ได้แก่พันธุ์ โรดไอส์แลนด์เรด (Rhode Island Red) , นิวแฮมเชียร์ (New Hampshire) , ไวท์พลีมัทร็อค (White Plymouth Rock) , ไวยันด็อท(Wyandotte), บาร์พลีมัทรอค (Barred Plymouth Rock), เจอร์ซี่ ใจแอ๊นส์(Jersey Giants)
1.2 ไก่ที่มีถิ่นกำเนิดในประเทศแถบเมดิเตอร์เรเนียน ได้แก่พันธุ์ ไวท์เล็กฮอร์น( White Leghorn), ไมนอร์คาส (Minorcas), แบ็ลคสเปนนิสช์ (Black Spanish), ไวท์เฟ็ค(White faced)
1.3 ไก่ที่มีถิ่นกำเนิดในประเทศอังกฤษ ได้แก่พันธุ์ ออร์ปิงตัน(Orpington),ซัสเซก (Sussex), ออสตราลอป (Australorps), ดอร์คกิ้น(Dorking), คอร์นิช(Cornish)
1.4 ไก่ที่มีถิ่นกำเนิดในแถบเอเชีย ได้แก่พันธุ์ โคชิน(Cochin), บราม่า(Brahmas), แลงชานส์(Langshans)
2. การแบ่งแบบการค้า (Commercial classification) เกิดจากไก่พันธุ์แท้หลายพันธุ์ ที่ได้รับการคัดเลือกพันธุ์ให้มีลักษณะดีขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้มีคุณลักษณะดี มีประโยชน์ทางเศรษฐกิจแล้วนำมาผสมข้ามพันธุ์และปรับปรุงพันธุ์ ได้ลูกผสมการค้าขึ้นเพื่อการผลิตไก่ไข่ และไก่เนื้อเชิงอุตสาหกรรม แบ่งเป็น
                                2.1 ประเภทไก่เนื้อ(Meat type) หมายถึงกลุ่มของไก่พันธุ์ ที่มีการเจริญเติบโตรวดเร็ว ให้เนื้อดีกว่าให้ไข่ ไก่ประเภทนี้มีโครงร่างของร่างกายใหญ่ โครงกระดูกใหญ่ ได้แก่พันธุ์ไก่เนื้อที่ผลิตจากบริษัทต่าง ๆ คือพันธุ์ ฮับบาร์ด (Hubbard) ซี.พี.707 อาร์เบอร์เอเคอร (Arber Acre) รอสวัน (Rose I)








                                                                ภาพที่ 2.1 พันธุ์ไก่เนื้อเพื่อการค้า
                                2.2 ประเภทไก่ไข่(Egg type) หมายถึง กลุ่มของไก่พันธุ์ ที่ให้ผลผลิตด้านไข่ดีกว่าเนื้อ มีรูปร่างเล็ก ประเปรียว ตื่นตกใจง่าย ไม่ชอบฟักไข่ ได้แก่พันธุ์ไก่ไข่ที่บริษัทต่าง ๆ เป็นตัวแทนจำหน่ายในประเทศ คือพันธุ์ อีซ่า-บราวน์(Esa-brown) โกลเด้นฮับบาร์ด(Golden Hubbard) เซฟเวอร์สตาร์คอส (shaver star cross)




ภาพที่ 2.2 พันธุ์ไก่ไข่เพื่อการค้า
3. การแบ่งตามพันธุกรรม (Genetics Classification) แบ่งออกได้ 2 กลุ่มใหญ่ ๆ
                ก. ไก่พันธุ์แท้ (Pure breed) เป็นไก่ที่มีลักษณะพันธุกรรมแน่นอน ยีนมีลักษณะเหมือนกัน เรียกว่า ยีนคู่เหมือน(Homozygous gene) โดยที่ไก่พันธุ์แท้จะให้ผลผลิตที่เด่นชัดแต่ละประเภท คือไก่พันธุ์แท้ประเภทเนื้อ(Meat type) ประเภทไข่(Egg type) และประเภทกึ่งเนื้อกึ่งไข่(Dual purpose breed)
. ไก่ลูกผสม (Cross breed) เป็นไก่ที่เกิดจากการผสมพันธุ์ระหว่างไก่ 2 พันธุ์ขึ้นไปที่มีลักษณะพันธุกรรมที่แปรปรวนซึ่งเป็นข้อด้อยเพราะยีนมีลักษณะแตกต่างกัน เรียกว่า ยีนคู่ต่าง (Heterozygous gene) แต่เกิดเป็นผลดีด้านผลผลิตและความแข็งแรงที่มากกว่าสัตว์ปีกพันธุ์แท้
ประเภทและพันธุ์เป็ด
การแบ่งประเภทของเป็ด แบ่งในลักษณะเป็นการค้า ได้ 2 ประเภท คือ
1. เป็ดพันธุ์เนื้อ แบ่งออกได้ดังนี้
                                1.1 เป็ดเนื้อพันธุ์แท้ ได้แก่ พันธุ์ปักกิ่ง (Peking) เอลสเบอรี่ (Elsberry) รูแอง (Ron) เป็ดเทศ (Muscovy) ออร์ปิงตัน (Orpington)
                                1.2 เป็ดเนื้อลูกผสม ได้แก่ พันธุ์เป็ดที่เลี้ยงเป็นการค้าในปัจจุบัน เช่น พันธุ์เชอร์รี่-วอลเลย์ เป็ดซูเปอร์เอ็ม ของบริษัทเชอร์รี่วอลเลย์ เป็ดปักกิ่งเฮกการ์ดของเดนมาร์ก เป็ดปักกิ่งทีเกลของออสเตรเลีย ยังมีเป็ดปั๊วไฉ่เป็นลูกผสมระหว่างเป็ดพื้นเมืองกับเป็ดเทศ
                2. เป็ดพันธุ์ไข่ เป็นกลุ่มพันธุ์เป็ดที่ให้ไข่ดี ให้ไข่เร็ว ไข่ฟองโต แบ่งออกได้ดังนี้
                                2.1 เป็ดไข่พันธุ์แท้ ได้แก่ พันธุ์แคมป์เบลล์ (Campbell) ซึ่งมีการปรับปรุงพันธุในปัจจุบันที่นิยมมากที่สุด ได้แก่ สายพันธุ์กากีแคมป์เบลล์ (Khaki Campbell) อินเดียนรันเนอร์(Indian Runner) เป็ดไข่พันธุ์พื้นเมืองไทย ได้แก่ เป็ดปากน้ำและเป็ดนครปฐม
                                2.2 เป็นไขพันธุ์ลูกผสม ในปัจจุบันมีหลายบริษัทที่ทำการผลิตพันธุ์เป็ดไข่เพื่อการค้า โดยนำ พันธุ์เป็ดไข่หลาย ๆ พันธุ์มาผสมพันธุ์ และคัดเลือกพันธุ์ขึ้นเพื่อให้มีอัตราการผลิตไข่ในสภาพได้ดีที่สุดตามความต้องการของแต่ละภูมิภาค เช่น เป็ดพันธุ์ CV 2000 CV 2010 เป็นต้น
ประเภทและพันธุ์นกกระทา
นกกระทาที่รู้จักกันมาก ได้แก นกกระทาพันธุ์ไข่ เช่น
                - นกกระทาเวอร์ยิเนีย
                - นกกระทาแคลิฟอร์เนีย
                - นกกระทายุโรป
                - นกกระทาญี่ปุ่น
                ในบรรดานกกระทาด้วยกันนั้น นกกระทาญี่ปุ่นจัดเป็นนกกระทาพันธุ์ไข่ที่ให้ไข่ดกมาก นิยมเลี้ยงมากที่สุดในเมืองไทย








พันธุ์และลักษณะประจำพันธุ์สัตว์ปีก
พันธุ์ไก่ และลักษณะประจำพันธุ์
1. ไก่พันธุ์เล็กฮอร์นขาวหงอนจักร (Single comb white Leghorn) เป็นไก่ที่มีถิ่นกำเนิดในประเทศอิตาลี เป็นไก่พันธุ์แท้ประเภทไข่ มีลักษณะลำตัวเพรียว บอบบางขนาดตัวเล็ก มีขนสีขาวล้วน เปลือกไข่สีขาว กินอาหารน้อยแต่ให้ไข่ดก เพศผู้โตเต็มที่มีน้ำหนัก 2.2-2.9 กิโลกรัม เพศเมียหนัก 1.8-2.2 กิโลกรัม เริ่มไข่เมื่ออายุ 4.5-5 เดือน ซึ่งค่อนข้างเร็วกว่าไก่พันธุ์อื่น ๆ ข้อดี ของไก่พันธุ์เล็กฮอร์น คือ มีขนาดตัวเล็ก ไม่อ้วน ทำให้สามารถทนอากาศร้อนได้ดี และมีประสิทธิภาพการเปลี่ยนอาหารเป็นไข่ค่อนข้างสูง แต่มีข้อเสีย คือเมื่อปลดระวางจากการไข่แล้วนำออกจำหน่ายได้ราคาถูก





ภาพที่ 2.3 ไก่พันธุ์เล็กฮอร์นขาวหงอนจักร
                2. ไก่พันธุ์โรดไอส์แลนด์เรด (Rhode Island Red) เรียกสั้น ๆ ว่าพันธุ์โรด หรือโรดไอส์แลนแดงเป็นไก่ที่มีถิ่นกำเนิดในประเทศสหรัฐอเมริกาจัดเป็นไก่ประเภท กึ่งเนื้อกึ่งไข่ (Dual purpose breed) มีรูปร่างค่อนข้างเจ้าเนื้อ และให้ไข่ดกด้วย มีขนสีน้ำตาลแดงหรือสีแดง ผิวหนังสีเหลือง ขนบริเวณหางสร้อยคอ (Hackle) คอและปีกอาจมีสีดำด้วย ให้ไข่เปลือกสีน้ำตาล เพศผู้เมื่อโตเต็มที่หนัก 3-4 กิโลกรัมเพศเมีย 2-3 กิโลกรัม เริ่มไข่เมื่ออายุ 5 .5 - 6 เดือน นิยมใช้ผสมข้ามกับไก่ที่มีลักษณะขนบาร์(Barred) เพื่อสร้างลูกผสมซึ่งสามารถคัดเพศตั้งแต่อายุ 1 วัน ในการสร้างลูกผสมไก่เนื้อการค้านิยมใช้ไก่พันธุ์นี้เป็นสายแม่พันธุ์ และนิยมนำไปผสมพันธุ์กับไก่พื้นเมือง เพื่อสร้างลูกผสมไก่พื้นเมือง เพื่อยกระดับการเจริญเติบโตและอัตราการไข่ของไก่พื้นเมืองลูกผสม สามารถส่งเสริมให้เกษตรกรนำไปเลี้ยงแบบไก่พื้นเมืองในหมู่บ้านได้






                ภาพที่ 2.4 ไก่พันธุ์โรดไอส์แลนด์เรด
                3. ไก่พันธุ์บาร์พลีมัทรอค (Barred Plymouth rock) มีถิ่นกำเนิดในสหรัฐอเมริกา เรียกสั้น ๆ ว่าไก่บาร์ (Barred) จัดเป็นไก่ประเภท กึ่งเนื้อกึ่งไข่ ไก่บาร์ มีรูปร่างเจ้าเนื้อคล้ายไก่โรค มีขนสีดำและแถบขาววนรอบตามขวางทำให้มองเห็นเป็นสีเทา(gray) เรียกขนลักษณะนี้ว่า ขนบาร์ (Barred Plumage) หงอนจัก ผิวหนังสีเหลืองให้ไข่เปลือกสีน้ำตาล ปัจจุบันใช้เป็นต้นพันธุ์ในการผลิตไก่ไข่ โดยเฉพาะการผลิตลูกผสมไก่ไข่ซึ่งสามารถคัดเพศเมื่ออายุ 1 วันได้ โดยอาศัยลักษณะขนบาร์ เมื่อนำพันธุ์โรดเพศผู้ ผสมกับพันธุ์บาร์เพศเมีย ได้ลูกเพศผู้ มีขนบาร์(Barred) มีจุดขาวบนหัว ลูกเพศเมียมีขนไม่บาร์ (Non-Barred) ขนดำไม่มีจุดขาว


                                                                                                                          
                                                

                ภาพที่ 2.5 ไก่พันธุ์บาร์พลีมัทรอค และลูกผสมโรด-บาร์เพศผู้ที่หัวมีจุดขาว


                4. ไก่พันธุ์นิวแฮมเชียร์ (New Hampshire) เป็นไก่ที่มีถิ่นกำเนิดในประเทศสหรัฐเมริกา จัดเป็นประเภทไข่ มีขนสีน้ำตาลอ่อน ผิวหนังสีเหลือง หงอนจัก ไข่เปลือกสีน้ำตาล ให้ไข่ดกและไข่ฟักออกดี ไก่พันธุ์นี้ได้รับการปรับปรุงพันธุ์มาจากไก่พันธุ์โรคไอแลนด์แดง เนื่องจากให้เนื้อมากแต่เดิมมาจึงใช้เป็นแม่พันธุ์ในการผลิตลูกผสมไก่เนื้อ ต่อมาพบว่าเป็นตุ่มขนสีดำเป็นปัญหาต่อโรงงานชำแหละไก่เนื้อ ดังนั้นตอนหลังจึงใช้เป็นพันธุ์ไก่ไข่มากกว่าใช้ผลิตไก่เนื้อ
                5. ไก่พันธุ์ออสตราลอป (Australorp) เป็นไก่ที่มีถิ่นกำเนิดในประเทศออสเตรเลีย จัดเป็นไก่ประเภทไข่ มีต้นกำเนิดจากไก่พันธุ์ แบล็คออร์ปิงตัน(Black Orpington) มีขนสีดำแกมเขียว (light tinted color) ผิวหนังสีขาว หงอกจักร เปลือกไข่สีน้ำตาลอ่อน ถูกปรับปรุงให้ไข่ดกขึ้น
                6. ไก่พันธุ์ไล้ท์บราม่า (Light Brahma) เป็นไก่ที่ผิวหนังสีเหลือง หงอนถั่ว (pea comb) ให้ไข่เปลือกสีน้ำตาล จัดเป็นไก่เนื้อ มีขนสีขาว ปลายสร้อยคอและหางมีขอบขนสีดำ สีขนแบบนี้เรียกว่า Columbian plumage pattern เช่นเดียวกับไก่พันธุ์โรค บางสายพันธุ์มีขนขึ้นที่แข้งด้วย จัดเป็นไก่พันธุ์เนื้อที่ดีมากพันธุ์หนึ่ง ปัจจุบันใช้เป็นต้นพันธุ์ในการผลิตไก่เนื้อการค้า
                7. ไก่พันธุ์พลีมัทรอคขาว (White Plymouth rock) เป็นไก่ที่มีถิ่นกำหนดในประเทศอเมริกา มีหงอกจักร ผิวหนังสีเหลือง ให้ไข่เปลือกสีน้ำตาล ขนสีขาว มีการเจริญเติบโตเร็ว และอัตราแลกเนื้อดีมาก นับเป็นพันธุ์ที่เหมาะสมสำหรับต้นพันธุ์การผลิตไก่เนื้อเนื่องจากมีขนสีขาว สะดวกในโรงงานชำแหล่ะไก่เดิมเป็นสายพันธุ์ที่ขนงอกช้า (Slow feathering) แต่ปัจจุบันสามารถคัดเลือกพันธุ์จนได้สายพันธุ์ที่ขนงอกเร็วแล้ว (fast feathering) จึงยิ่งเหมาะในการใช้เป็นไก่เนื้อ
                8. ไก่พันธุ์คอร์นิช (Cornish) เป็นไก่ที่มีถิ่นกำเนิดในประเทศอังกฤษ จัดเป็นไก่ประเภทพันธุ์เนื้อ มีขนสีขาวหงอนถั่ว (Pea comb) ผิวหนังสีเหลือง เปลือกไข่สีน้ำตาลตัวโต ขนสั้น เนื้ออกมาก ลำตัวกว้าง ไข่ฟองเล็กและเริ่มไข่ช้า (อายุ 6-7 เดือน) รวมทั้งไข่ฟักออกต่ำ
                9. ไก่พื้นเมืองไทย (Thai Native Breed) เป็นไก่ดั้งเดิมของไทย มีความแตกต่างกันในแต่ละท้องถิ่นและอาจมีชื่อเรียกแตกต่างกันออกไปด้วย เช่น ไก่อู ไก่บ้าน ไก่ตะเภาทอง ไก่แสมดำ ไก่เบตง (ไก่เบตงเป็นไก่พื้นเมืองจากประเทศจีนชาวจีนนำเข้ามาเลี้ยงที่ อ.เบตง จ.ยะลา)ลักษณะโดยทั่วไปของไก่พันธุ์พื้เมืองไทย จะมีขนสีดำ เทาแดงหรือสีเขียวปนกัน เป็นไก่ที่มีรูปร่างเพรียว อกค่อนข้างแหลม ให้เนื้อน้อย ไข่ไม่ดก แต่มีเนื้อแน่น และเนื้ออกค่อนข้างมาก คนไทยนิยมบริโภค ทำให้มีราคาแพงกว่าเนื้อไก่ทั่วไป ปัจจุบันเริ่มมีการปรับปรุงพันธุ์เป็นไก่ลูกผสม

พันธุ์เป็ด และลักษณะประจำพันธุ์
                1. เป็ดพันธุ์ปักกิ่ง (Peking) เป็นเป็ดพันธุ์แท้ มีต้นกำเนิดจากประเทศจีน ปัจจุบันถูกนำไปปรับปรุงพันธุ์ให้ดีขึ้นและเลี้ยงเป็นเป็ดเนื้อไปทั่วโลก เป็ดปักกิ่งเจริญเติบโตเร็วและให้เนื้อมาก มีขนสีขาว เหมาะสำหรับเป็นเป็ดเนื้อซึ่งสามารถนำไปถอนขนได้ง่ายกว่า แม้ว่าเป็ดเป็นสัตว์ปีกที่ถอนขนยากกว่าไก่ ปากมีสีเหลืองหรือสีส้มแข้ง และเท้ามีสีหมากสุก ผิวหนังสีเหลืองได้รับการปรับปรุงพันธุ์ให้ไข่ดีพอสมควร คือ 160 ฟอง/ปี แต่ไม่มีนิสัยฟักไข่ เปลือกไข่สีขาว เพศผู้เมื่อโตเต็มที่หนัก 3.5-4 กิโลกรัมส่วนเพศเมียหนัก 2.5-3 กิโลกรัม เป็ดปักกิ่งนับเป็นเป็ดที่เลี้ยงเป็นการค้ามากพันธุ์หนึ่ง สามารถขุนเป็นเวลานาน 10-12 สัปดาห์ ได้น้ำหนัก 3-4 กิโลกรัม เป็ดปักกิ่งมีนิสัยตกใจง่าย ผู้เลี้ยงควรระวังเพราะจะมีผลต่อการไข่และการเจริญเติบโตได้





                                                                ภาพที่ 2-6 เป็ดพันธุ์ปักกิ่ง
                2. เป็ดเทศ (Muscovy) เป็นเป็ดคนละGenus และ species กับเป็ดพันธุ์อื่น ๆ เป็ดเทศมีถิ่นกำเนิดในทวีอเมริกาใต้ เป็ดเทศเมื่อผสมพันธุ์กับเป็ดพันธุ์อื่นๆ ลูกเกิดมาเป็นหมัน เป็ดเทศที่เลี้ยงทั่วไปแบ่งเป็น 3 พวก คือ ชนิดสีขาว ชนิดสีดำ และชนิดขาวดำ เป็ดเทศให้เนื้อดีแต่ให้ไข่น้อยและโตค่อนข้างช้า จึงไม่มีผู้นิยมเลี้ยงเป็ดเทศเป็นการค้า เป็ดเทศยังมีนิสัยฟักไข่ และเลี้ยงลูก เป็ดเทศชนิดสีขาวจะมีขนสีขาว ผิวหนังสีขาว แข้งสีเหลืองหรือส้มอ่อน ปากสีเนื้อ ส่วนเป็ดเทศชนิดสีดำ จะมีขนดำปนขาว ปากสีชมพูแข้งสีเหลือง หรือสีตะกั่วเข้ม เป็ดเทศที่นิยมเลี้ยงเลี้ยงในประเทศไทยโดยเกษตรกรในชนบทคล้ายกับการเลี้ยงไก่พื้นเมือง สามารถใช้พืชสดต่าง ๆ ได้ดี เช่น เดียวกับห่าน และยังพบว่าเป็ดเทศกินเศษเหลือจากการจับสัตว์น้ำของชาวประมงได้เป็นอย่างดีด้วย






                                                                ภาพที่ 2-7 เป็ดเทศ
                3. เป็ดพันธุ์เชอรี่วอลเลย์ (Cherry Valley) เป็นเป็ดเนื้อที่เกิดจากการนำเป็ดพันธุ์ปักกิ่งผสมข้ามกับเป็ดพันธุ์อื่น จัดเป็นเป็ดลูกผสมการค้าที่สำคัญพันธุ์หนึ่ง ปรับปรุงพันธุ์ในอังกฤษ ลักษณะภายนอกเหมือนกับเป็ดปักกิ่งคือขนสีขาวล้วน การเจริญเติบโตดีกว่าเป็ดปักกิ่ง สามารถเติบโตจนได้น้ำหนัก 3 กิโลกรัม ภายใน 7-8 สัปดาห์ ปัจจุบันไทยมีการนำเข้าพ่อแม่พันธุ์ของพันธุ์ เชอรี่วอลเลย์ จากต่างประเทศเพื่อผลิตเป็ด เชอรี่วอลเลย์จำหน่ายแก่เกษตรกรโดยทั่วไป
                4. เป็ดพันธุ์กากีแคมพ์เบลล์ (Khaki Campbell) พันธุ์เป็ดของประเทศอังกฤษ มีสีกากี ที่ไข่ดีที่สุดในโลก บางสายพันธุ์สามารถไข่ได้เกือบ 365 ฟองต่อปี แต่ให้เนื้อน้อยมาก ขนาดตัวเมื่อโตเต็มที่เพศผู้หนัก 2-2.5 กิโลกรัม เพศเมียหนัก 1.5-2 กิโลกรัม สีขนแตกต่างกันระหว่างเพศผู้และเพศเมีย โดยทั่วไปเป็นสีกากี เพศผู้จะมีสีเขียวแกมน้ำตาลที่หลังหางและคอ หัว ปากสีเขียว แข้งและนิ้วเท้าสีส้มแก่ ส่วนเพศเมียนั้นบริเวณคอและหัวเป็นสีน้ำตาล ปากสีเขียวเข้ม แข้งและนิ้วเท้าสีน้ำตาล
                5. เป็ดพันธุ์นครปฐม เป็นเป็ดพันธุ์พื้นเมืองของประเทศไทยลักษณะคล้ายเป็ดป่า เลี้ยงมากในแถบจังหวัดนครปฐม ราชบุรี และชายฝั่งทะเลบริเวณใกล้เคียงกัน ลักษณะรูปร่างโตกว่าพันธุ์กากีแคมพ์เบลล์ และมีอกกว้างกว่า เพศเมียมีสีลายกาบอ้อย ทั้งตัว ส่วนเพศผู้หัวมีสีเขียวเข้ม รอบคอมีสีขาวอกมีสีแดงเรื่อๆ ลำตัวสีเทา ส่วนท้องสีค่อนข้างขาว ปากสีเทา เท้าและแข้งสีส้ม เป็ดนครปฐมเริ่มออกไข่เมื่ออายุ 5-6 เดือน แต่ไข่ฟองโต ตามที่ได้กล่าวไปแล้วเป็ดนครปฐมให้ไข่ดีและให้เนื้อดีด้วยเป็ดนครปฐมนั้นนิยมนำไปผสมข้ามกับเป็ด พันธุ์กากีแคมพ์เบลล์ได้ลูกผสมที่ให้ไข่ดกและฟองโต ในทำนองเดียวกันมีการนำเป็ดนครปฐมผสมกับเป็ดปักกิ่งจะได้ลูกผสมที่โตเร็วและให้เนื้อมาก นอกจากนี้ยังมีบางแห่งนำเป็ดนครปฐมผสมกับเป็ดเทศเพื่อผลิตเป็ดปั๋วฉ่ายด้วย
                6. เป็ดปากน้ำ เป็นเป็ดพันธุ์พื้นเมืองของไทย มีขนาดตัวเล็กกว่าเป็ดนครปฐม แต่ไข่เร็วกว่าและไข่ดกกว่า ลักษณะสีขนเพศเมีย มีสีดำทั้งตัว มีสีขาวที่อก ส่วนเพศผู้มีหัวสีเขียวบรอนซ์ ลำตัวและส่วนอื่นสีดำ มีสีขาวที่อกเช่นเดียวกับเพศเมีย เป็ดปากน้ำเลี้ยงมากที่จังหวัดสมุทรปราการ ชลบุรี และตามชายฝั่งทะเลทางภาคตะวันออกของไทย ได้มีการนำเป็ดปากน้ำผสมข้ามกับเป็ด พันธุ์กากีแคมพ์เบลล์ได้ลูกผสมที่ไข่ดกเช่นกัน

พันธุ์ห่าน และลักษณะประจำพันธุ์
1. ห่านพันธุ์จีน (Chinese) เป็นห่านพันธุ์ที่แพร่หลายที่สุดในโลก และในประเทศไทย เมื่อเปรียบเทียบกับห่านพันธุ์อื่น มีปมนูนที่บริเวณฐานปาก ห่านจีนแบ่งออกเป็น 2 ชนิด คือ ชนิดสีเทาหรือสีน้ำตาล และชนิดสีขาว ทั้ง 2 ชนิด เดิมเป็นห่านป่า รูปร่างคล้ายหงส์ ให้ไข่เร็วและดก ไข่ปีละ40-65 ฟอง สำหรับขนาดตัวนั้นเพศเมียโตเต็มที่หนัก 4.5 กิโลกรัม และเพศผู้ 5.5 กิโลกรัม ในประเทศไทยนิยมเลี้ยงห่านจีนสีเทาเป็นห่านเนื้อ ส่วนห่านจีนสีขาวนิยมเลี้ยงไว้เฝ้าบ้าน ลูกห่านสีขาวแพงกว่าสีเทา







                                                                ภาพที่ 2.8 ห่านพันธุ์จีน
                2. ห่านพันธุ์อาฟริกัน (African) มีลักษณะคล้ายกับห่านจีนแต่มีขนาดตัวโตกว่า จุดเด่นของพันธุ์นี้คือ มีปมนูนที่บริเวณฐานปากเรียกว่า Knob และมีหนังคอหย่อนยาน สีขนคล้ายห่านจีนชนิดสีเทา ขนบริเวณแผ่นหลังและปีกสีน้ำตาล คอ อก ใต้ท้องสีน้ำตาลอ่อน หัวสีน้ำตาลอ่อน ปากสีน้ำตาลแข้งสีส้มแก่ ห่านพันธุ์อาฟริกันเพศเมียโตเต็มที่หนัก 7 กิโลกรัม และ เพศผู้ 10 กิโลกรัม
                3. ห่านพันธุ์ทูเลาส์ (Toulouse) เกิดในประเทศฝรั่งเศส เลี้ยงในประเทศนี้มานานกว่า 100 ปี จึงเรียกตามชื่อเมืองที่ได้รับการคัดเลือกและปรับปรุงพันธุ์ จัดเป็นห่านพันธุ์เนื้อที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก เพศผู้หนัก 12 กิโลกรัม ส่วนเพศเมียหนัก 10 กิโลกรัม ลำตัวกว้าง สั้นและขาสั้น ตัวสีเทาแก่และอ่อนสลับกัน บนแผ่นหลังสีเทาแก่ส่วนบริเวณอก ท้องและลำตัวสีเทาอ่อน ปาก แข้ง เท้า สีส้ม
                4. พันธุ์เอ็มเด็น (Emden) เป็นพันธุ์ห่านในประเทศเยอรมันมีสีขาว รูปร่างคล้ายเป็ดแต่มีขนาดใหญ่กว่า เพศผู้ 10 กิโลกรัม ส่วนเพศเมียหนัก 7 กิโลกรัมปากและแข้งสีส้ม
                5. ห่านพันธุ์แคนาดา (Canada) เป็นห่านขนาดเล็กเมื่อโตเต็มที่เพศผู้หนัก 5.5 กิโลกรัม เพศเมียหนัก 4.5 กิโลกรัม รูปร่างแบนขนานกับพื้นคล้ายเป็ดเทศแต่ตัวสูงกว่า ขายาว ขนสีเทาแก่เป็นส่วนใหญ่ คอและอกสีขาวหางสีดำ คอและหัวสีดำ หน้าขาว ห่านพันธุ์แคนาดาบินเก่ง ไข่น้อย และออกไข้ช้า
                6. ห่านพันธุ์อียิปต์ (Egyptian) มีขนาดตัวเล็กเช่นกันโตเต็มที่เพศผู้หนัก 4.5 กิโลกรัม เพศเมียหนัก 3.5 กิโลกรัม มีความสวยงามมาก ลำตัวมีสีเทาดำ ปากสีม่วงแดง หัวสีเทาขนขอบตาสีน้ำตาลแดง วงแหวนรอบคอสีดำ หัวไหลสีขาว อกสีน้ำตาลแดง แข้งสีเหลืองแดง
                7. ห่านพันธุ์เซบาสโตโพล (Sebastopol) เป็นห่านสวยงามขนสีขาว ปากและแข้งสีส้ม ขนปีก ขนหางบิดงอ
พันธุ์นกกระทาและลักษณะประจำพันธุ์
ที่เลี้ยงในปัจจุบันเป็นนกกระทาญี่ปุ่น ซึ่งมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Coturnix coturnix japonica) และที่เลี้ยงกันทั่วไปก็เป็นพันธุ์เดียวกันนี้ แต่อาจมีสายพันธุ์อื่นบ้าง นกกระทาญี่ปุ่นเมื่อโตเต็มที่ มีน้ำหนักตัว
ประมาณ 140-160 กรัม แรกเกิดมีน้ำหนักประมาณ 7 กรัม เริ่มไข่เมื่ออายุ 42 วัน อายุฟักไข่ประมาณ 16-19 วัน ลักษณะของนกกระทาจะมีขนลายน้ำตาล ดำปนขาว เพศผู้จะมีขนสีน้ำตาลแดงบริเวณอกและคอตลอดจนบริเวณแก้ม ธรรมชาตินกกระทาเพศเมียจะโตกว่าตัวผู้ ซึ่งจะเป็นวิธีการในการคัดเพศนกกระทาวิธีหนึ่ง





ภาพที่ 2.9 นกกระทาญี่ปุ่น





การคัดเลือกพันธุ์สัตว์ปีก
การปรับปรุงพันธุ์สัตว์ปีกเป็นงานที่สำคัญสำหรับธุรกิจที่ผลิตพันธุ์สัตว์ปีก ตั้งแต่การรวบรวมพันธุ์ การคัดเลือกพันธุ์ การทดลองผสมพันธุ์ และการทดสอบพันธุ์
การคัดเลือกพันธุ์
การคัดเลือกพันธุ์สัตว์ปีก เพื่อให้ลักษณะต่าง ๆ ของสัตว์ดีขึ้นหรือคงลักษณะดีไว้ มีหลักเกณฑ์วิธีการคัดเลือกจากความสามารถของตัวเอง (Mass Selection) ลักษณะสำคัญหลายอย่างสามารถดูจากตัวสัตว์เองได้ โดยเฉพาะลักษณะภายนอก เช่น ขนาด รูปทรง สีขน การดูความสามารถของตัวเองเหมาะสำหรับลักษณะที่แสดงออกทั้ง 2 เพศ แต่ลักษณะที่แสดงออกเฉพาะเพศ เช่น การคัดเลือกลักษณะการไข่ในไก่เพศผู้ ต้องอาศัยการคัดเลือกจากพันธุประวัติ (Pedigree selection) เพราะพันธุ์ประวัติของสัตว์ คือ แผนผังที่แสดงถึงการสืบสายของสัตว์ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าบรรพบุรุษแต่ละตัวเป็นอย่างไร และลักษณะบางอย่างที่ต้องการคัดเลือกจากการฆ่าสัตว์ก่อนจึงจะทราบ เช่น การคัดเลือก ลักษณะคุณภาพเนื้อของไก่
                1. การคัดเลือกไก่พื้นเมือง โดยการสังเกตความแข็งแรง ไก่ที่แข็งแรง และร่างกายสมบูรณ์จะมีรูปร่างปกติหน้าตาสดใส ท่าทางคึกคัก หงอนใหญ่ ตานูนเด่น ขนสวยเป็นมัน ความสมบูรณ์แข็งแรงมีส่วนเกี่ยวข้องกับ การเจริญโต และการไข่ ข้อเปรียบเทียบระหว่างไก่พื้นเมืองที่มีสุขภาพสมบูรณ์และไม่สมบูรณ์ แสดงไว้ในตารางที่ 2.1
ตารางที่
2.1 เปรียบเทียบระหว่างไก่พื้นเมืองที่มีสุขภาพสมบูรณ์และไม่สมบูรณ์
สิ่งที่สังเกต
สมบูรณ์แข็งแรง
ไม่สมบูรณ์
ท่าทาง
ประเปรียวคล่องแคล่ว
ไม่เปรียว ซึม เฉื่อย
อาการ
คึกคัก ตื่นตัวเสมอ
ซึม, หงอย
เสียง
ร้องบ่อย ๆ ขันบ่อย ๆ
เงียบ
อาการทางเพศ
คักคัก สนใจตัวเมีย
ไม่สนใจ
การกินอาหาร
กินจุ กระตือรือร้น
กินน้อย
ขน
มัน สมบูรณ์
ฟอง ไม่มัน ไม่สดใส
ปีก
เรียบ ติดตัว
ปีกตก ขนไม่เรียบ
ที่มา (สมชาย ศรีพูล, 2549)
                นอกจากการคัดเลือกจากความสมบูรณ์แข็งแรงแล้ว ควรพิจารณาลักษณะตรงตามพันธุ์ เช่นสีขน สีผิว และลักษณะการให้ผลผลิต เช่น ขนาด น้ำหนัก อัตราการเจริญเติบโต อัตราการไข่ อัตราการฟักประกอบด้วย

2. การคัดเลือกสายพันธุ์ไก่เนื้อ โดยการสังเกตลักษณะภายนอกของไก่แยกเป็นเพศได้ ดังนี้
สายพ่อพันธุ์
- ขนาดตัวใหญ่ ส่งผลถึงรุ่นลูกให้มีขนาดลำตัวใหญ่ตรงตามวัตถุประสงค์ของการผลิตไก่เนื้อที่ต้องการไก่ตัวใหญ่เนื้อมาก
- ขนงอกเร็ว ส่งผลถึงรุ่นลูกเพื่อการจัดการถอนขนสะดวกในขณะทำการฆ่าชำแหละเนื่องจากขนงอกเร็วขนอ่อนจะน้อย
- อกกว้าง ส่งผลถึงรุ่นลูกให้เนื้ออกมาก
- ขาแข็งแรง ส่งผลถึงรุ่นลูกรับน้ำหนักตัวที่มีขนาดและน้ำหนักได้ดี
- เจริญเติบโตเร็ว ส่งผลถึงรุ่นลูกให้โตเร็ว
- ประสิทธิภาพการใช้อาหารดี ส่งผลถึงรุ่นลูกให้ใช้อาหารน้อยเปลี่ยนเป็นเนื้อมาก
- ขนสีขาว ส่งผลถึงรุ่นลูกให้มีขนอ่อนสีขาวสังเกตได้ไม่ชัดเหมือนขนสีดำ ซึ่งเป็นความต้องการของโรงฆ่าชำแหละ ซึ่งมีผลมาจากการรังเกียจของผู้บริโภค
- ผิวหนังสีเหลือง ส่งผลถึงรุ่นลูกให้ผิวหนังสีเหลืองตามความนิยมของผู้บริโภค
สายแม่พันธุ์
สายแม่พันธุ์มีการคัดเลือกเช่นเดียวกับการคัดเลือกพ่อพันธุ์ คือ โตเร็ว ขนงอกเร็ว อกกว้าง ขาแข็งแรง เพื่อให้ลักษณะดังกล่าวส่งผลถึงรุ่นลูก แต่มีลักษณะที่ต้องคัดเลือกแตกต่างกับพ่อพันธุ์คือ
- ไข่ดก เพื่อให้แม่พันธุ์ได้ไข่ฟักจำนวนมาก
- อัตราการฟักออกสูง เพื่อผลิตลูกไก่เนื้อได้จำนวนมาก
3. การคัดเลือกสายพันธุ์ไก่ไข่ โดยสังเกตลักษณะภายนอกที่สำคัญทางเศรษฐกิจของไก่พันธุ์เดียวกัน และต่างพันธุ์ ดังนี้
การคัดเลือกสายพันธุ์เดียว ควรคัดเลือกจาก
- น้ำหนักตัวพ่อแม่พันธุ์ ไม่ควรมากเหมือนการคัดเลือกไก่เนื้อ เพราะไก่ไข่ตัวโตจะใช้อาหารมากกว่าไก่ไข่ตัวเล็ก
- อัตรารอดพ่อแม่พันธุ์ ส่งผลถึงรุ่นลูกให้มีอัตรารอดสูง
- อายุเมื่อถึงวัยเจริญพันธุ์พ่อแม่พันธุ์ ส่งผลถึงรุ่นลูกให้มีระยะเวลาเจริญพันธุ์น้อย หรือเป็นหนุ่มเป็นสาวเร็ว
- น้ำหนักไข่ของแม่พันธุ์ ส่งผลถึงรุ่นลูกให้ไข่มีน้ำหนักมาก
                - อัตราการไข่แม่พันธุ์ ส่งผลถึงรุ่นลูกให้มีอัตราการไข่มาก
- คุณภาพเปลือกไข่แม่พันธุ์ ส่งผลถึงรุ่นลูกให้ไข่มีเปลือกไข่หนาแข็งแรง
- คุณภาพไข่แม่พันธุ์ ส่งผลถึงรุ่นลูกให้ไข่ขาวข้นไข่แดงมีขนาดใหญ่
- อัตรารอดเมื่อโตเต็มที่พ่อแม่พันธุ์ ส่งผลถึงรุ่นลูกให้มีอัตรารอดตายมาก สายพันธุ์ลูกผสม ควรคิดดังนี้
เพศผู้ จะให้ความสำคัญของการคัดเลือกในลักษณะ ตัวใหญ่ และอัตรารอดสูง ซึ่งจะได้ลูกผสม 2 สายที่ตัวใหญ่ และมีอัตรารอดสูง
เพศเมีย จะให้ความสำคัญของการคัดเลือกในลักษณะ ไข่ฟองโต ไข่ดก คุณภาพไข่ดี
ซึ่งจะได้ลูกผสม 2 สายที่มีไข่ดก ฟองโต และคุณภาพไข่ดี
การคัดเลือกไก่ไข่ กำลังไข่หรือหยุดไข่ โดยดูจากลักษณะภายนอก ดังตารางที่ 2.2 และ2.3
ตารางที่ 2.2 เปรียบเทียบไก่ไข่กำลังไข่ และไก่หยุดไข่
ลักษณะ
ไก่ไข่
ไก่ไม่ไข่
หงอน
ใหญ่ แดง โตเต็มที่สดใส
เล็ก ซีด ตกสะเก็ด
ตา
แจ่มใส กลมโต
เชื่องซึม
ก้น
กว้าง ปากทวารหนักขยายใหญ่ชุ่ม
ปากทวารหนักเล็ก แห้ง
กระดูกเชิงกราน
กว้าง (2-3 นิ้วมือ)
แคบ
ช่องท้อง
อ่อนนุ่ม ระหว่างกระดูกอก และเชิงกรานกว้าง 3 นิ้ว มือขึ้นไป
ระหว่างกระดูกอก และเชิงกรานแคบกว่า 3 นิ้วมือ

ตารางที่ 2.3 เปรียบเทียบไก่ไข่รุ่นเดียวกันที่ ไข่ดี และไข่ไม่ดี
ลักษณะ
ไก่ไข่ดี
ไก่ไข่ไม่ดี
ขอบตา
บาง ขาว
หนา เหลือง
ตา
แจ่มใส กลมโต นูน เด่น
ซึม
ก้น
เขียวคล้ำ
แดง สีเนื้อ
ตุ้มหู
สีตามพันธุ์ ซีด
สีเข้ม
แข้ง
ขาวซีด แบน
เหลือง กลม
ขน
ขาดวิ่น
ขนเนียน เรียบร้อย
การผลัดขน
ผลัดขนเร็ว
ผลัดขนช้า
ไข่
ไข่ในระยะผลัดขน
หยุดไข่ขณะผลัดขน
ที่มา (สมชาย ศรีพูล, 2549)


ระบบการผสมพันธุ์สัตว์ปีก
การผสมพันธุ์ปีกจะมีระบบเช่น เดียวกับสัตว์ทั่วไป โดยมีระบบการผสมพันธุ์ดังนี้
1. การผสมในสายสัมพันธ์(Close-breeding) การผสมพันธุ์ระหว่างคู่ผสมที่เป็นสัตว์พันธุ์เดียวกัน มีความสัมพันธ์ทางพันธุกรรมต่อกัน หรือเป็นญาติกัน แบ่งเป็น 2 ลักษณะที่สำคัญ ดังนี้
                1.1 การผสมแบบเลือดชิด (Inbreeding) เป็นการผสมพันธุ์สัตว์ปีกที่เป็นญาติกัน เช่นพ่อหรือแม่ผสมกับลูก พี่ผสมกับน้อง เพื่อเพิ่ม Homozygosity ในสัตว์ปีกใช้ในการสร้างพันธุ์ใหม่ขึ้น แต่ต้องมีการป้องกันไม่ให้อัตราเลือดชิดสูงเกินไป ด้วย เพราะจะเกิดลักษณะ Inbreeding depression
                1.2 การผสมภายในสายตระกูล (line-breeding) เป็นการผสมพันธุ์โดยยึดสายเลือดของสัตว์ปีกใดตัวหนึ่งให้อยู่ในฝูงสัตว์ ไม่นิยมนำมาใช้ในสัตว์ปีก เนื่องจากสัตว์ปีกมีอัตราการขยายพันธุ์สูงอยู่แล้ว
2. การผสมนอกสายสัมพันธ์ (Out- breeding) การผสมพันธุ์ระหว่างคู่ผสมที่ไม่มีความสัมพันธ์ทางพันธุกรรมต่อกันหรือไม่เป็นญาติกันแบ่งเป็น 2 ลักษณะที่สำคัญ ดังนี้
                2.1 การผสมพันธุ์ระหว่างคู่ผสมที่ไม่เป็นญาติกัน แต่เป็นสัตว์พันธุ์เดียวกัน(out-crossing )ใช้ในการปรับปรุงพันธุ์แท้ให้ดีขึ้น
            2.2 การผสมข้ามพันธุ์ (cross breeding) เป็นการผสมสัตว์ต่างพันธุ์กัน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อรวมลักษณะที่ดีของสัตว์ 2 พันธุ์ขึ้นไปมาไว้ในสัตว์ตัวเดียวกันและเป็นการสร้างโอกาสให้เกิด Heterosis
                2.3 เป็นการผสมเพิ่มเลือด (up-grading)โดยอาศัยพ่อพันธุ์ที่มีคุณภาพดีเยี่ยม และยกระดับเลือดพันธุ์พื้นเมืองให้มีเลือดพ่อพันธุ์เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ นิยมใช้กับสัตว์ใหญ่ ที่มีการขยายพันธุ์ช้า
                2.4 การผสมแบบข้ามสายตระกูล (Crossing inbreed line) ใช้มากในสัตว์ปีก เพื่อสร้างลูกผสมการค้าขึ้น
การสร้างสายพันธุ์ไก่เนื้อและไก่ไข่เพื่อการค้า
                การสร้างสายพันธุ์ไก่เนื้อและไก่ไข่เพื่อการค้านั้นจะมุ่งเน้นไปที่การให้ผลผลิตเป็นหลัก ในไก่เนื้อต้องการไก่โตเร็ว เปลี่ยนอาหารเป็นเนื้อได้ดี ใช้เวลาเลี้ยงระยะสั้น ให้เนื้อมาก ส่วนไก่ไข่จะเน้นไปที่การให้ไข่ดก และไข่ทน การสร้างสายพันธุ์ไก่เนื้อและไก่ไข่เพื่อการค้าจะใช้ระบบการคัดเลือกลักษณะที่ต้องการจากสัตว์ปีกหลาย ๆ พันธุ์พร้อมกับการผสมพันธุ์แบบ การผสมในสายตระกูล(line-breeding) การผสมแบบข้ามสายตระกูล(Crossing inbreedline) และการผสมข้ามพันธุ์ (cross breeding) ซึ่งเขียนเป็นแผนผังการผสม ดังแผนภูมิที่ 2.1



6แผนภูมิที่ 2-1 การสร้างสายพันธุ์ไก่เนื้อและไก่ไข่เพื่อการค้า


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น